วุฒิอาสาธนาคารสมองภาคเหนือ

“วุฒิอาสาธนาคารสมองร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากร ภายใต้ทิศทำงการพัฒนาของแผนฯ 13”

         วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 มูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประชุมเชิงปฏิบัติการ “วุฒิอาสาธนาคารสมองร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากร ภายใต้ทิศทำงการพัฒนาของแผนฯ 13” ขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย ภาคเหนือตอนบน 1 ภาคเหนือตอนบน 2 และภาคเหนือตอนล่าง 1 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของวุฒิอาสาฯ ภาคเหนือ โดยมีการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นการขับเคลื่อนการพัฒนา แบบบูรณาการของวุฒิอาสาฯ กับภาคีเครือข่าย ในประเด็น 4 เรื่องหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การพัฒนาระบบ long term Care 2.การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล 3.ส่งเสริมการจ้างงาน และ 4. ประเด็นอื่น ๆ

          โดยมี นางสาววรวรรณ พลิคามิน เหรัญญิกมูลนิธิพัฒนาไท และรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานการประชุม “วุฒิอาสาธนาคารสมองร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากร ภายใต้ทิศทำงการพัฒนาของแผนฯ 13” ภาคเหนือตอนบน 1 ประกอบด้วยวุฒิอาสาฯ จากจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง ภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ จากจังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และ ภาคเหนือตอนล่าง 1 ประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ จากจังหงัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์



ประชุมเชิงปฎิบ้ติการ "รวมพลังวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคเหนือขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

         เมื่อวันที่ ๒๕-๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ มูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.ชียงราย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "รวมพลังวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคเหนือขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ โรงแรมเวียงอินทร์ จ.เชียงราย โดยมี ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เป็นประธานเปิดการประชุม นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ และ นายนคร คำธิตา ประธานวุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดเชียงราย รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองจังหวัดเชียงราย

          โดยมี นางสาววรวรรณ พลิคามิน ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับธนาคารสมอง เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ในการนำผู้ที่เกษียณอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีจิตอาสามาร่วมกันพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ในนาม "วุฒิอาสาธนาคารสมอง” โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๓ มอบหมายให้ สศช. เป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำบัญชี ทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ และประสานและเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาฯ ได้นำความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ มาช่วยงานที่สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

      กล่าวเปิดการประชุมว่า ธนาคารสมองก่อกำเนิดจากพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานแนวทางการนำศักยภาพผู้สูงอายุมาร่วมเป็นพลังอาสาในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ในฐานะ "วุฒิอาสาธนาคารสมอง” ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ โดยนำผู้เกษียณอายุที่มีความรู้ความสามารถ มีจิตอาสา และมีสุขภาพดี มาช่วยงานส่วนรวมของประเทศ นับเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ที่วุฒิอาสาธนาคารสมองได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือชุมชน สังคม และประเทศชาติตามแนวทางการพัฒนาประเทศ มีการดำเนินกิจกรรมทั่วประเทศมากกว่า ๑๙,๐๐๐ โครงการ/กิจกรรม/เรื่อง โดยเป็นผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคเหนือกว่า ๓,๐๐๐ โครงการ/กิจกรรม/เรื่อง ในประเด็นการส่งเสริมอาชีพ รายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิต การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และการพัฒนาเพื่อความมั่นคงบริเวณพื้นที่ชายแดน สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุเป็นพลังสำคัญอย่างยิ่งของสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทุกระดับและทุกมิติ ซึ่งประเทศไทยได้ออกมาตรการในการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว จนประสบความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยได้รับความร่วมมือจากพลังทางสังคมในระดับพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤติดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญคือ การสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยพลังความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงวุฒิอาสาฯ เพื่อรองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น วุฒิอาสาธนาคารสมอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่น นับเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ที่จะอยู่คู่กับสังคมไทยในการพัฒนาสังคมและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี วุฒิอาสาฯ จึงต้องปรับบทบาทและการทำงานเชิงรุกมากขึ้น ด้วยการกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการรวมตัวของพลังอาสาร่วมพัฒนาประเทศในระดับพื้นที่ การเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายการพัฒนา และสื่อสารข้อมูลและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาองค์ความรู้ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง การถ่ายทอดความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาตามความต้องการต่อหน่วยงาน องค์กร และชุมชน ด้วยการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้สมัยใหม่ให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่ตามแต่ละภูมิสังคม อันเป็นการประสานพลังอาสาที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศให้ยั่งยืนสืบไป

      จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ที่อยู่เหนือสุดของประเทศไทย ติดชายแดนประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัว ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปกรรมต่างๆ ประกอบกับลักษณะของเมืองเชียงรายมีภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาสูง ทำให้มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี เป็นผลให้เชียงรายจัดเป็นจังหวัดที่มีสถานที่อันทรงคุณค่า น่าท่องเที่ยว น่าศึกษาดูงานจังหวัดหนึ่งของประเทศ สมดังคำขวัญที่ว่า “เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง” และที่สำคัญ เชียงรายมี “โครงการพัฒนาดอยตุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”
     ซึ่งเป็นโครงการทรงงานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๑ ที่ทรงมุ่งมั่นช่วยเหลือราษฎรให้หลุดพ้นจากวงจรของความเจ็บป่วย ความยากจนและความไม่รู้ อันเป็นเหตุที่แท้จริงของการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกฝิ่น การค้าและเสพยาเสพติด การค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหาและความรุนแรงทางสังคม โดยมุ่งเน้นการสร้างโอกาส ส่งเสริมทางเลือกในการประกอบอาชีพที่สุจริต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคน ตลอดจนหาแนวทางให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม จนกลายเป็นโครงการต้นแบบการแก้ปัญหาความ “เจ็บ จน ไม่รู้” อย่างบูรณาการและครบวงจร
     ในส่วนของจังหวัดเชียงราย วุฒิอาสาธนาคารสมองมีการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ชุมชน และภาคีเครือข่ายการพัฒนาอื่นๆ ในระดับจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จากการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน การอนุรักษ์วัฒนธรรม การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งวุฒิอาสาฯ มีการประชุมหารือร่วมกันสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือนเพื่อระดมสมองในการจัดทำโครงการ/กิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมี      แนวทางการพัฒนาชัดเจน อาทิการยกระดับการท่องเที่ยว เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมและสนับสนุนงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการค้าชายแดน เกษตรปลอดภัย อาหารปลอดพิษ โดยวุฒิอาสาฯ มีส่วนร่วมในการช่วยประสานงานกับองค์กรในชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะแม่หลวงสังเวียน ปรารมภ์ ประธานกลุ่มวิถีไทย วิถียอง บ้านสันทางหลวง ที่เป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชนสู่ความเข้มแข็งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว

      “...ความจริงหกสิบแล้ว ถึงแม้จะเป็นเวลาที่สมควรจะให้ผู้ที่มีอายุน้อยเข้ามาทำหน้าที่ของเขาบ้าง มีโอกาสทำหน้าที่ เราก็ยังเป็นกองหนุนที่คอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมือง...เรียกว่า เบรนแบงก์ (Brain Bank) ธนาคารสมอง...”
     ปัจจุบันมีวุฒิอาสาธนาคารสมองทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น ๕,๓๐๔ คน มีความเชี่ยวชาญใน ๒๑ สาขา โดยสาขาที่มีความเชี่ยวชาญมากที่สุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ ด้านการศึกษา ร้อยละ ๒๒.๕๔ รองลงมาเป็นด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร้อยละ ๑๑.๕๐ และด้านการเกษตร ร้อยละ ๙.๙๑ โดยในภาคเหนือ มีจำนวน ๗๙๓ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๔.๙๕ และกว่าร้อยละ ๒๐ เชี่ยวชาญด้านการศึกษา รองลงมาเป็นด้านการเกษตร และด้านการแพทย์และสาธารณสุขประมาณร้อยละ ๑๐ การดำเนินงานที่ผ่านมานั้น วุฒิอาสาธนาคารสมองมีการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง มีผลงานที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะร่วมเป็นภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานและการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกับมูลนิธิพัฒนาไท และ สศช. อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาช่วยงานเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตามความต้องการของชุมชนและบริบทของภูมิสังคม
     สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ นอกจากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองแล้ว ยังเกิดเครือข่ายและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างวุฒิอาสาธนาคารสมอง กับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ทั้งภายในและระหว่างจังหวัด รวมทั้งให้หน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายได้รู้จัก เข้าใจบทบาท และสามารถใช้พลังวุฒิอาสาธนาคารสมองมาร่วมขับเคลื่อนงานของแต่ละหน่วยงานอย่างเต็มตามศักยภาพมากขึ้น

      การประชุมเชิงปฏิบัติการ “รวมพลังวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคเหนือ ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) พิจารณาการทำงานแบบบูรณาการ ๒) การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ๓) การนำเสนอผลงานในการดำเนินงานธนาคารสมองของภาคเหนือสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนแม่บท แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๒ และแผนปฏิรูปประเทศ ในเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจพอเพียง จากการแบ่งกลุ่มโดยใช้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
     ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถสรุปความสอดคล้องกับแผนฯ ฉบับที่ ๑๒ โดย ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการทำเกษตรเชิงพาณิชย์ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้นวุฒิอาสาฯ ต้องมีบทบาทในการให้คำแนะนำ สนับสนุน ส่งเสริม ในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ให้ตระหนักถึงการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้เกิดระเบิดจากข้างใน สอดคล้องกับพระราชดำรัสของในหลวง ร.๙ ด้านสังคม มองคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ใน ๓ มิติ คือ มิติด้านกาย ด้านจิตใจ และด้านสติปัญญา โดยมิติด้านกาย พบว่า มีการคิดแยกส่วนระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ประสบปัญหา ซึ่งการที่จะทำให้สุขภาพดีไม่ใช่เฉพาะการออกกำลังกาย แต่มีองค์ประกอบอื่นเข้ามาด้วย คือ อาหาร จึงเชื่อมโยงมาสู่ระบบการผลิตอาหารที่ถูกสุขอนามัย และ เกษตรอินทรีย์ มิติด้านจิตใจ ต้องใช้หลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานที่นำไปสู่ความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์ ความตรงต่อเวลา ความอดทน อดกลั้น มิติด้านสติปัญญา นอกจากการเรียนในระบบแล้ว การเรียนตามอัธยาศัย การฝึกอบรม การฝึกวิชาชีพที่มิใช่เฉพาะในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ เกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม การเกิดสภาวะความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาในภาพรวมเพิ่มมากขึ้น การใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การนำทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดี โดยไม่กระทบกระเทือนต่อคนรุ่นหลัง อาทิ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นผลมาจากการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั่งยืน ดังนั้น การลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ที่เชื่อมโยงมาสู่การทำอาชีพ การส่งเสริมอาชีพ และด้านคุณภาพชีวิต ทั้งหมดคือการรักษาสภาพแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
      จากการรวมข้อมูลการระดมความคิดเห็นของวุฒิอาสาฯ ทั้ง ๔ ภาค สรุปเป็นภาพรวม เพื่อนำไปปรับปรุงแผนการดำเนินงานของธนาคารสมอง และบทบาทของวุฒิอาสาฯ ที่จะช่วยสนับสนุนและผลักดันการขับเคลื่อนงานให้ถึงจุดหมายปลายทาง อีกทั้งเป็นส่วนสนับสนุนในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๒ ซึ่ง สศช. และ มพท. จะได้นำเสนออีกครั้งในงานประชุม ๒๐ ปี ธนาคารสมองต่อไป
     ส่วนการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างวุฒิอาสาฯ กับภาคีเครือข่าย มพท. จะนำปัจจัยความสำเร็จและข้อเสนอแนะต่าง ๆ นำเสนอต่อที่ประชุม มพท. ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ดังนี้ ๑) ปรับปรุงข้อมูลทำเนียบวุฒิอาสาฯ ให้ทันสมัย ครบถ้วน สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้สามารถติดต่อกับ มพท. ให้ง่ายขึ้น ๒) การออกใบรับรองให้วุฒิอาสาฯ เพื่อรับรองว่ามีคุณสมบัติที่เพียบพร้อมและสอดคล้องกับความต้องการของสถาบัน/หน่วยงาน ในการเป็นวิทยากรบรรยายต่าง ๆ ๓) งบประมาณ มพท. มีงบประมาณที่จำกัดตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งสามารถช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายการประชุมของวุฒิอาสาฯ จากเดิมสามารถเบิกจ่ายได้ จำนวน ๓ ครั้ง/ปี เพิ่มเป็นจำนวน ๔ ครั้ง/ปี รวมทั้งงบประมาณการดำเนินงานด้วย