วุฒิอาสาธนาคารสมอง ภาคตะวันออก

ประชุมเชิงปฏิบัติการ "วุฒิอาสาธนาคารสมองภาคตะวันออก เสริมพลังสร้างเครือข่าย
จากเมืองยั่งยืนสู่สังคมเสมอภาคและเท่าเทียม”

         ระหว่างวันที่ ๒๘-๒๙ กันยายน ๒๕๖๓ มูลนิธิพัฒนาไท (มพท.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคตะวันออก จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "วุฒิอาสาธนาคารสมองภาคตะวันออก เสริมพลังสร้างเครือข่าย จากเมืองยั่งยืนสู่สังคมเสมอภาคและเท่าเทียม” ณ โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเต็ล โดยมีนายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ ๒๐๐ คน ประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่ายภาคตะวันออก ๘ จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด สระแก้ว ปราจีนบุรี และนครนายก) หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น คณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาไท และเจ้าหน้าที่ สศช. โดยมีนายรณภพ เวียงสิมมา ปลัดจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวต้อนรับ

          โดยมี นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับธนาคารสมอง เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ในการนำผู้ที่เกษียณอายุที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีสุขภาพแข็งแรงและจิตอาสา มาร่วมกันพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๓ มอบหมายให้ สศช. เป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเรียกว่า "วุฒิอาสาธนาคารสมอง” และประสานและเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาฯ ได้นำความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ มาช่วยงานที่สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

       สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับธนาคารสมอง เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๓ ในการนำผู้ที่เกษียณอายุที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีสุขภาพแข็งแรงและจิตอาสา มาร่วมกันพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๓ มอบหมายให้ สศช. เป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเรียกว่า "วุฒิอาสาธนาคารสมอง” และประสานและเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาฯ ได้นำความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ มาช่วยงานที่สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
       รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนงานธนาคารสมองดำเนินการใน ๒ ส่วน โดยส่วนแรก สศช. ได้ร่วมกับ มพท. จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาประเทศ เพื่อเติมพลังความรู้ให้แก่วุฒิอาสาฯ เป็นระยะๆ ส่วนที่ ๒ วุฒิอาสาฯ ร่วมทำงานกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่างสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนาประเทศในระดับต่าง ๆ ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่หลากหลายและเป็นรูปธรรม ตามความต้องการของหน่วยงาน ชุมชน และบริบทของแต่ละภูมิสังคม ในทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเน้นการสร้างและขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกันของวุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน
      สำหรับการประชุมวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคตะวันออก ได้มีการจัดประชุมแล้ว ๒ ครั้ง เมื่อเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการประชุมเพื่อนำเสนอผลการขับเคลื่อนงานที่ผ่านมาของวุฒิอาสาฯ ทั้ง ๘ จังหวัดภาคตะวันออก สังเคราะห์บทเรียนจากการขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งสถานการณ์ ปัญหา ปัจจัยความสำเร็จ ผลกระทบจากภายในและภายนอก โอกาส และความท้าทาย และระดมความคิดเห็นแนวทาง/ทิศทางการขับเคลื่อนในพื้นที่ (Look Forward) ที่นำไปสู่การพัฒนาที่สมดุล พึ่งพาตนเอง มีการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ในประเด็นร่วมของภาคตะวันออกใน ๕ ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดิน น้ำ ป่า ขยะ) การเป็นศูนย์กลางอาหารปลอดภัย การจัดการท่องเที่ยวชุมชนบนชีวิตวิถีใหม่ การสร้าง ชุมชนน่าอยู่/เมืองยั่งยืน และการสร้างการเรียนรู้บนฐานชุมชน ทางรอดของชุมชนตะวันออก
      รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการนำผลสรุปการประชุมทั้ง ๒ ครั้ง มานำเสนอเป็นภาพรวมของภาคตะวันออก ทบทวนและเติมเต็มในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ในประเด็นต่าง ๆ และประเด็นการขับเคลื่อนงานร่วมกันในอนาคตของภาคีเครือข่ายภายในและภายนอกพื้นที่ เพื่อนำเสนอในการประชุม ๒๐ ปีธนาคารสมองในปีหน้าต่อไป โดยวันแรก เป็นการบรรยาย เรื่อง "แนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แผนพัฒนาภาคตะวันออกบนฐานของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และดัชนีความก้าวหน้าของคนในภาคตะวันออก” และเวทีเสวนายกระดับการขับเคลื่อนการพัฒนา "วิถีตะวันออกวิถีแห่งความสุข สร้างสังคมเสมอภาคและเท่าเทียม” ภายหลังสถานการณ์โควิด – ๑๙ และวันที่สอง เป็นการนำเสนอแนวคิดและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคตะวันออกเมืองยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ การระดมความคิดเห็นจัดทำและนำเสนอแผนปฏิบัติการ "ภาคตะวันออกเมืองยั่งยืน สร้างสังคมเสมอภาคและเท่าเทียม และสรุปผลการประชุม โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระดับต่าง ๆ และผลการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ และภาคีการพัฒนาของทั้ง ๘ จังหวัดภาคตะวันออก

      ในขณะนี้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ ซึ่งได้กำหนดทิศทางและภาพอนาคตที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา และการพัฒนายั่งยืน
      โลกยุคความปกติใหม่ (New Normal) ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่มากมาย แม้คาดกันว่าโควิด - ๑๙ อาจเบาบางลงได้ภายใน ๒ ปี แต่อาจต้องเผชิญกับโรคระบาดใหม่อีกเป็นระลอก จึงจำเป็นต้องปรับทั้งวิธีคิดและการบริหารจัดการพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงในยุคใหม่ ตามแนวคิดคนเป็นศูนย์กลางแบบบูรณาการอย่างแท้จริง และเสริมสร้างระบบให้เอื้อต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ด้วยการสร้างพลังอำนาจของชุมชนของทุกภาคส่วนของสังคมให้มีความเข้มแข็ง
      ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนการเกิดวิกฤติโควิด – ๑๙ ให้เป็นโอกาสในการพัฒนา โดยปรับแนวทางการพัฒนาบางส่วนเพื่อนำไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้ ขณะนี้ทรัพยากรการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว ด้านสุขภาวะและการแพทย์ของไทยได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ที่สามารถจัดการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี ส่วนด้านอาหารของประเทศไทยนับว่าเด่นที่สุด ได้รับความนิยมอย่างมาก และด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยมีวัฒนธรรมที่น่าสนใจมากมาย
      การเกิดวิกฤตโควิด – ๑๙ เปิดโอกาสให้ประชาชนระดับฐานรากสามารถสร้างนวัตกรรมและเศรษฐกิจของตนเอง แต่จำเป็นต้องมีผู้เข้าไปส่งเสริม ซึ่งวุฒิอาสาฯ ควรจะเข้าไปสนับสนุนในจุดนี้ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน ในโลกยุคใหม่นี้มีความใกล้ชิดกันทางไซเบอร์แต่ห่างกันทางกายภาพ การเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารทางกายภาพอย่างไร้พรมแดน นับเป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ ๆ และสุขภาวะ โดยเฉพาะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สังคมไทยมีความเข้มแข็งและได้เปรียบ เช่น การรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพป้องกันโรค การแพทย์แผนไทย ความมั่นคงทางอาหาร เป็นครัวของโลก การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
      ดังนั้น วุฒิอาสาฯ จะต้องพยายามเรียนรู้ตลอดชีวิต มีการปรับตัว และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทักษะในการเรียนรู้นับว่ามีความสำคัญ จะต้องมีความรู้ทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง ในการที่วุฒิอาสาฯ จะเข้าไปทำงานกับเครือข่ายต่าง ๆ ขอให้ยึดหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ก็จะประสบความสำเร็จในการทำงาน

      สรุปว่า สศช. จะนำผลจากการประชุมในครั้งนี้ไปประมวลประเด็นการพัฒนา เพื่อส่งกลับมาให้วุฒิอาสาฯ ภาคตะวันออกประสานการขับเคลื่อนต่อไป โดยจะนำประเด็นสำคัญไปนำเสนอในการประชุม ๒๐ ปีธนาคารสมอง ตลอดจนนำเสนอภาพการขับเคลื่อน "ปฏิบัติการแห่งการเรียนรู้ (SDGs Lab)” ของภาคตะวันออกในเวทีระดับประเทศต่อไป