ความเป็นมาโครงการ ของจังหวัดมหาสารคาม

                             ความเป็นมาโครงการ

จากการสำรวจข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐานหรือ จปฐ. ปี 2540 พบว่าประชาชนยังประสบปัญหาด้านคุณภาพชีวิตต่อเนื่องในหลาย ๆ ด้าน เช่น เรื่องรายได้ และค่าครองชีพ น้ำสะอาดในการบริโภค การศึกษาของเด็กที่ครบเกณฑ์ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งสภาพปัญหาดังกล่าว หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยข้องได้ร่วมมือกันเร่งรัดและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อ ผลการดำเนินงานไม่สำเร็จเท่าที่ควรและสาเหตุที่สำคัญบางประการ อันเนื่องมาจากกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่องค์กรของรัฐเป็นผู้ชี้นำ และดำเนินการใช้ชุมชนโดยชุมชนไม่มีส่วนร่วม ไม่เกิดจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของ ไม่ตระหนักถึงปัญหาและไม่ร่วมแก้ไขปัญหาเท่าที่ควร ส่งผลถึงกิจกรรมการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ประสบผลสำเร็จและไม่ยั่งยืน

ดังนั้น จังหวัดมหาสารคามจึงได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน จากหน่วยงานของรัฐและเอกชนได้ระดมความคิด เพื่อหารูปแบบและแนวทางในการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาของชุมชนในหลาย ๆ ด้าน และได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ควรหาวิธีที่จะพัฒนาโดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง และพัฒนาแบบองค์รวมเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนชุมชนมีจิตสำนึกร่วม สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรองบประมาณจากส่วนราชการแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อการพัฒนาสังคมให้เกิดสันติสุขและการพัฒนาที่ดีจะสอดคล้องกับ วิถีชีวิต รวมทั้งโครงสร้างของสังคมนั้น ๆ ยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนให้แนวคิดดังกล่าวมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมได้ คือ การพึ่งตนเอง และการมีส่วนร่วมของประชาชน



แผนความร่วมมือไทย-สหประชาชาติ เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทย ภาคธุรกิจ เอกชน องค์กรพัฒนาชุมชน กับองค์กรภาคีสหประชาชาติในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของประชาชนและชุมชน ให้มีศักยภาพเข้มแข็ง โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมกระบวนการความร่วมมือ ซึ่งเน้นการพัฒนาแบบองค์รวม เสริมสร้างความสามารถ ความเข้มแข็งของบุคคล ครอบครัว และชุมชน ให้ดำเนินการพัฒนาที่ยั่งยืน จังหวัดมหาสารคามเป็นจังหวัดหนึ่งของพื้นที่นำร่อง 5 แห่งของประเทศที่ได้รับการคัดเลือก (เป็นจังหวัดนำร่องของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ในการดำเนินโครงการตามแผนความร่วมมือไทย-สหประชาชาติ เริ่มตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน