ผลการดำเนินงานประชาคมตำบล ของจังหวัดมหาสารคาม

ผลการดำเนินงานประชาคมตำบล ของจังหวัดมหาสารคาม

การดำเนินงานประชาคมตำบลนั้นให้ความสำคัญแก่การเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาของชุมชนให้เข้มแข็ง โดยสนับสนุนให้ชุมชนทำกิจกรรม / โครงการพัฒนา และใช้กิจกรรมการพัฒนา เป็นเวทีในการเรียนรู้ ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายมากว่าการมุ่งแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง
ทั้งนี้ โดยมีความเชื่อว่าหากชุมชนมีกระบวนการทำงานที่เอื้ออำนวยให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเรียนรู้ ก็จะทำให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยชุมชนเอง แล้วชุมชนจะมีความเข้มแข็ง โดยมีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และติดตามผลการดำเนินงานของประชาคมในแต่ละหมู่บ้านโดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง หมุนเวียนกันไป
การดำเนินกิจกรรรมการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สมาชิกในชุมชน พบว่า ประชาคมตำบล กลุ่มองค์กรชุมน ได้ริเริ่มโครงการ / กิจกรรม การพัฒนาของชุมชนในหลาย ๆ ด้านที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิก เช่น

1. การพัฒนาด้านสุขภาพ โครงการของประชาคมตำบลที่สามารถดำเนินการได้ทันที คือการแก้ไขปัญหาสาธารณาสุขในหมู่บ้านของตนเอง เนื่องจากมีงบประมาณสนับสนุนงานสาธารณสุขมูลฐานในหมู่บ้านละ 7,500 บาท และเป็นแผนงาน / โครงการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณมาก มีแกนนำที่สำคัญในการดำเนินงาน คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ร่วมกับประชาคมตำบล เช่น การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก การปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การป้องกันและควบคุมโรคไข้เยี่ยวหนู เป็นต้น

2. การพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของตำบลประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเป้าหมายหนึ่งของการพัฒนา ซึ่งเดิมภายในตำบลแต่ละตำบลที่มีการรวมกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพ การระดมทุนจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์เดิมอยู่แล้ว หลายกลุ่ม แต่พบว่าประชาชนที่เข้าร่วมกลุ่มต่าง ๆ ยังเป็นกลุ่มเฉพาะไม่กระจายครบทุกหมู่บ้าน ดังนั้นประชาคมตำบลจึงส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อประกอบอาชีพเสริมนอกจากอาชีพหลักคือการทำนา จากผลการดำเนินงานพบว่าเกิดกลุ่มพัฒนาอาชีพขึ้นในหลายหมู่บ้าน ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยชาวบ้านดำเนินการเองและกลุ่มที่ อบต. สนับสนุนและกลุ่มที่องค์กรของรัฐให้การสนับสนุนโครงการสร้างรายได้ การส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงและการเสริมสร้างรายได้ เช่น กลุ่มอาชีพที่ดำเนินการโดยประชาคมตำบลในขั้นตอนแรก ประชาคมตำบลจะใช้เวทีเสวนาในกลุ่มที่สนใจ และตามคุ้มเพื่อชี้แจงประชาชนภายในหมู่บ้านเกิดการรวมตัว จัดตั้งกลุ่มอาชีพในคุ้มในหมู่บ้านซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของชาวบ้านมารวมกลุ่มกัน จากผลการดำเนินงานที่กลุ่มที่เกิดขึ้นภายในหมู่บ้านหลายกลุ่ม หลายหมู่บ้าน กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง กลุ่มทำเตาซิ่ง กลุ่มจักสานเพื่อนำสินค้าไปวางขายในท้องตลาด กลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้าน กลุ่มเลี้ยงสุกร กลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมขาย กลุ่มผลิตข้าวซ้อมมือบรรจุถุงขาย กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง กลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล โดยองค์การบริหารได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมอาชีพในชุมชนและสนันสนุนกลุ่มต่าง ๆ เพื่อขยายผลการดำเนินงานและเพิ่มทุนหมุนเวียนในกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ยังมีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น
- โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง
- กองทุนพัฒนาหมู่บ้านโดยการจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้แก่สมาชิก
- จัดกองทุนหมุนเวียนให้สมาชิกกู้ยืมไปใช้ในการเกษตรแบบผสมผสานและกลุ่มพัฒนาอาชีพยั่งยืน โดยให้สมาชิกกู้ยืมไปลงทุนด้านอาชีพต่าง ๆ โดยงบสนับสนุนจากโครงการไทย-สหประชาชาติ
- กลุ่มผลิตผลไม้ดอง
- กลุ่มการเกษตรกรบาดาลลอยฟ้า โดยชาวบ้านมีส่วนร่วมแรงกายและร่วมเป็นทุนในการเสียค่าใช้จ่ายค่าน้ำจากการใช้น้ำประปาบาดาลในการเกษตรเอง โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
- กลุ่มเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด


- กลุ่มเพาะเห็ดขอนขาวและเห็นนางรม เห็ดฟาง
จากการดำเนินงานประชาคมตำบลซึ่งในแต่ละอำเภอ จะมีแกนนำประชาคมตำบล พบว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพของชุมชน เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการพัฒนา ซึ่งทำให้ได้ทราบปัญหาในแต่ละหมู่บ้าน และได้แผนงานโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการของประชาคมโดยตรง นั่นคือประชาคมได้ร่วมกันค้นหาปัญหาในหมู่บ้านร่วมกัน และร่วมกันวางแผนงานโครงการ โดยเจ้าหน้าที่ให้การสนับสนุนเพียงเล็กน้อยก็จะได้โครงการที่จะเสนอองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เอง เพื่อของบประมาณสนับสนุนและมีโครงการอื่น ๆ อีกทีแม้ไม่ได้เกิดจากประชาคมโดยตรง แต่แกนนำประชาคมก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้เกิดแผนงาน/โครงการขึ้น ซึ่งมีหลายโครงการที่ไม่ได้กล่าวไว้ในที่นี้ อนึ่งในการของบประมาณสนับสนุนของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ แม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานแต่กลุ่มสมาชิกในชุมชน ได้ระดมหุ้นจากสมาชิกกลุ่มเองเพื่อเป็นกองทุนในการบริหารจัดการ
ประชาคมตำบลในจังหวัดมหาสารคาม ได้เริ่มต้นในกลางปี 2541 ในการดำเนินการพบว่าบางกลุ่มยังมีสมาชิกร่วมน้อย และผลผลิตของกลุ่มยังไม่สามารถเสริมรายได้ให้กับกลุ่มและการขยายเครือข่ายไป อำเภอ หมู่บ้าน ตำบลอื่นภายในจังหวัดยังเกิดขึ้นน้อยคงต้องให้เวลาสำหรับการพัฒนาอีกระยะหนึ่ง คาดว่าผลการดำเนินงานประชาคมจะต้องมีเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างกว้างขวางตามแนวคิด และวิสัยทัศน์ของประชาคมแต่ละตำบลกำหนดไว้ในอนาคตอย่างแน่นอน

3. การพัฒนาด้านสังคม ศาสนาและการศึกษา การพัฒนาคน/กลุ่มเพื่อสร้างจิตสำนึก ประชาคมตำบลได้มองว่าการมีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกาย และจิตใจต้องปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีอยู่ในสังคมที่มีผู้คนมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในแผนปฏิบัติการของประชาคมตำบลจึงมีแผนงานด้านสังคมและการศึกษาเข้าไปในแผนปฏิบัติการดังกล่าว ดังรายละเอียดดังนี้

โครงการหมู่บ้านตำบลปลอดยาเสพติด ประชาคมตำบลดำเนินงานให้ผู้นำคุ้ม ตัวแทนหมู่บ้านในวันที่นำเสนอแผนและผู้นำคุ้มเป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่ลูกบ้านในแต่ละคุ้มของตนเองร่วมกับแกนนำประชาคมของหมู่บ้านตำบล ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลพฤติกรรมบุตรหลานในคุ้มของตนเองไม่ให้ติดยาเสพติด โดยร่วมกับเจ้าพนักงานตำรวจของสถานตำรวจภูธรตำบล จัดหาอุปกรณ์กีฬาและการเล่นกีฬาประจำหมู่บ้าน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน การจัดให้มีการแข่งขันกีฬาเยาวชนตำบล เพื่อความสามัคคีของเยาวชนในตำบล ให้ความรู้ทางหอกระจายข่าวเรื่องพิษภัยของยาเสพติดในหมู่บ้านทุกสัปดาห์

โครงการเยาวชนได้รับการศึกษาทางธรรมะ ด้านการศึกษาประชาคมตำบลได้มีแผนการพัฒนาเยาวชน หรือประชาชนผู้สนใจให้มีการศึกษาอย่างน้อยให้งบการศึกษาภาคบังคับ และส่งเสริมให้เยาวชนเรียนต่อในระดับสูง ประชาคมตำบลร่วมกับ อบต. ประสานงานกับ กศน. ให้มีการจัดการเรียนการสอนทั้งหลักสูตรระยะสั้นและหลักสูตร ปกศ.(ม.3-ม.6)

การพัฒนาคน/กลุ่มเพื่อสร้างจิตสำนึกในการมีส่วนร่วม ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการโครงการให้แก่ผู้นำคุ้ม ตัวแทนชาวบ้าน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาพร้อมกันนั้นได้ศึกษาดูงานในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนา และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความสามัคคีในตำบล

4. กระบวนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างประชาคมตำบลกับองค์การบริหารส่วนตำบล
การพัฒนาในระดับอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เป็นองค์กรบริหารที่ถูกเลือกตั้งจากประชาชน มีกฎหมายรองรับตามแนวคิดกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่มุ่งสร้างองค์กรระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น มีสิทธิเสรีภาพและการบริหารงบประมาณได้เอง ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และประชาคมตำบลที่ดีจะต้องทำงานร่วมกัน โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีกฏหมายรองรับจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างภาครัฐและประชาชน ให้ชาวบ้านหรือประชาคมตำบลที่มีการรวมตัวกันอยู่แล้วได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการท้องถิ่นให้สำเร็จตรงตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด การเรียนรู้และเสริมพลังกันจะทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งได้ การประสานแผนงานโครงการและการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 นำเสนอแผนปฏิบัติการโครงการของแกนนำประชาคมตำบลในที่ประชุมประชาคมตำบลของแต่ละตำบล ทุกคนได้รับทราบและพิจาณาปรับเปลี่ยนแผนงานโครงการดังกล่าว ซึ่งในกลุ่มประชาคมตำบลจะมีสมาชิก อบต. เข้าร่วมเป็นประชาคมตำบลและได้ร่วมในกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม (AIC) เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการต่าง ๆ จะมีส่วนชี้แจงและผลักดันให้ได้รับการสนับสนุนจาก อบต.


ขั้นตอนที่ 2 นำเสนอแผนปฏิบัติการโครงการต่าง ๆ ของตำบลในที่ประชุม คปต.(คณะทำงานสนับสนุนการปฏิบัติงานของระดับตำบล) โดยทีมแกนนำประชาคมตำบลนำเสนอแผนปฏิบัติการให้ คปต. ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการบริหาร อบต.ตัวแทนจากหน่วยงานราชการในตำบลได้รับทราบและพิจาณาแผนดังกล่าว เพื่อจะนำแผนปฏิบัติเข้าผนวกในแผนพัฒนาตำบล

5. ความเข้มแข็งของชุมชน ภายหลังที่มีการดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนเกิดขึ้นแล้ว จากการสัมภาษณ์กลุ่มแกนนำประชาคมตำบลในประเด็น ลักษณะผู้นำในชุมชน กระบวนทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนา แกนนำประชาคมให้ความสำคัญในการวางแผนร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล การบริหารจัดการ การระดมทุนภายในและภายนอกชุมชน กลไกนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการดำเนินงาน การจัดการความขัดแย้งและกระบวนการทำงานพัฒนา

6. การระดมทุนภายในและภายนอกชุมชน การระดมทุนภายในชุมชน เช่น การระดมทุนในการทำกองทุนหมุนเวียนในการกู้ยืม ระดมทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่วนการระดมทุนภายนอกชุมชน พบว่าประชาคมสามารถนำแผนงานโครงการ ขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เช่น องค์การนานาชาติ SIF

7. กลไลนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการดำเนินงาน การส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐเอกชน หน่วยงานที่มีบทบาทในการดำเนินงานประชาคมมีหน่วยงานสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักทุกตำบล นอกนั้นจะมีหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนให้การลงทุนและด้านวิชาการ เช่น ประมง พัฒนาชุมชน เกษตร กศน. ปศุสัตว์ อบต. ปตท. และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทุกหน่วยงานที่เข้ามาดำเนินการไม่มีหน่วยงานไหนที่ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรค บุคคลหรือองค์กรที่เป็นหลักในการรวมตัวกันของชาวบ้านในอดีตจะเป็น พระ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานของรัฐ เช่น สาธารณสุข เกษตร พัฒนาชุมชน แต่ในปัจจุบันก็ยังมี พระ กำนัน หน่วยงานของรัฐ เช่น สาธารณาสุข เกษตร พัฒนาชุมชน อบต. และประชาคมตำบล เป็นผู้มีบทบาทในการทำให้เกิดการรวมตัวของชาวบ้านในการพัฒนด้านต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนร่วมกัน

8. กระบวนการทำงานพัฒนา แกนนำประชาคมตำบลที่เข้าร่วมประชุมเพื่อระดมความคิดในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ในหมู่บ้านและตำบลทุกตำบลมีการเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง การประชุมมีการนำปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เข้าที่ประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไข เช่น ปัญหาทิ้งขยะไม่เป็นที่ ปัญหาที่ชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ปัญหาการกำจัดสิ่งปฏิกูล ปัญหาเรื่องยาเสพติดและมีการนำเอาข้อสรุปจากการประชุมไปปฏิบัติ เช่น เสนอองค์การการบริหารส่วนตำบลเพื่อจัดทำข้อบังคับในการปรับ และมีการปฏิบัติตามมติเสียงเป็นส่วนมากโดยใช้ระบบประชาธิปไตย

การเข้าร่วมพัฒนาหมู่บ้านและตำบล เช่น การพัฒนาตำบลสะอาด ประชาชนทุกกลุ่มร่วมกับประชาคมร่วมกันในการทำความสะอาด โดยมีสัญญาประชาคมร่วมกันในการทำความสะอาดหมู่บ้านและครัวเรือนร่วมกัน การแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารอาหารประชาคมร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขช่วยกันทำอาหารเสริม โครงการป้องกันโรคไข้เลือดออกประชาคมร่วมกับสาธารณสุขและแกนนำสุขภาพในครอบครัวช่วยกันเฝ้าระวังลูกน้ำยุงลาย โดยการสำรวจลูกน้ำยุงลายทุกเดือนเพื่อไม่ให้เกิดโรค โครงการแก้ปัญหายาเสพติดประชาคมได้เข้ารับการอบรมโครงการแสงเทียนเป็นอาสาสมัครให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการแจ้งข่าวและช่วยประชาสัมพันธ์ทุกหมู่บ้าน โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนประชาชนและประชาคมร่วมมือกันในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปลูกป่า รักษาป่าให้อยู่ในสภาพดี โดยมีกฎระเบียบห้าม