ผลการดำเนินโครงการฯ ของจังหวัดพะเยา


1.) การอำนวยการและบริหารโครงการ โดยสำนักงานเลขานุการโครงการฯ สำนักงานจังหวัดพะเยา

1.1) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการจัดทำแผนการจัดการกองทุนแก่ ชุมชนนำร่องทั้ง 7 ชุมชนในพื้นที่ เกี่ยวกับแนวคิด แนวทางและวิธีการบริหารจัดการกองทุนไทย-สหประชาชาติ และกองทุนต่างๆที่มีอยู่เดิมในชุมชนโดยความมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในชุมชน
           พบว่าชุมชนมีทักษะในการบริหารจัดการกองทุนต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ให้การสนับสนุนงบประมาณอยู่เดิมในระดับหนึ่ง และจำนวนเงินรวมทุกกองทุนจำนวนมาก เช่น กองทุน กขคจ. กองทุนโอ่ง กองทุนวัว กองทุนหมู่ กองทุนเอดส์ กองทุนกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งกองทุนดังกล่าวขาดการจัดระบบการบริหารจัดการอย่างเป็นเอกภาพ และมีวิธีจัดการอย่างซับซ้อนยุ่งยาก ทำให้ไม่เกิดความเข้มแข็ง บางกองทุนประสบความล้มเหลว บางกองทุนดำเนินไปอย่างผิดวัตถุประสงค์ เงินกองทุนเสียหาย ติดตามไม่ได้ ขาดระเบียบการจัดการ หรือขาดวินัยในการบริหาร

1.2) จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนในรอบระยะเวลา หนึ่งๆ เช่น รอบ 6 เดือน รอบ 1 ปี เพื่อให้ชุดปฏิบัติการได้เกิดทักษะในการบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหาจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุดปฏิบัติการต่างๆในพื้นที่ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจกรรมกองทุนฯ

1.3) สนับสนุนโอกาสในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้จากการเดินทาง เข้ารับการฝึกอบรมด้านการจัดการธุรกิจชุมชนด้วยตนเอง ภายใต้การสนับสนุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)หรือ INTERNATIONAL LABOR ORGANIZATION เพื่อให้ผู้นำชุมชนเกิดทักษะและกระบวนการเรียนรู้การจัดการธุรกิจชุมชนด้วนตนเอง ระหว่าง 17 -21 พฤษภาคม 2542 ณ จังหวัดเพชรบุรี

จากการติดตามพบว่าชุมชนขาดกระบวนการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ ในหลักและวิธีการจัดการธุรกิจชุมชนด้วยตนเอง เนื่องจากผู้ผ่านการฝึกอบรมขาดโอกาสและทักษะในการถ่ายทอดแก่ชุมชนอย่างเป็นระบบ

1.4) สนับสนุนกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบลและหมู่บ้านเชิง บูรณาการจากผลการจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างชุดปฏิบัติการในพื้นที่นำร่อง มีการยกประเด็นการพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรระดับตำบลและหมู่บ้านในการจัดทำแผนพัฒนา ประจำปี จึงได้จัดประชุมสัมมนากระบวนการจัดทำแผนพัฒนาตำบลและหมู่บ้าน ตลอดทั้งสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดทำแผนระดับตำบลและหมู่บ้าน แห่งละ 20,000 บาท รวม 140,000 บาท เพื่อให้เป็นแผนพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ(อบต.)และภาคประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริง

พบว่า อบต.และชุมชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการจัดทำแผน งาน/โครงการพัฒนาเชิงบูรณาการ และยังขาดความมีส่วนร่วม และขาดการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้ทิศทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาขาดความชัดเจนและไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนได้

2.) การดำเนินกิจกรรมในพื้นที่นำร่อง โดยกองทุนความร่วมมือไทย-สหประชา ชาติประจำหมู่บ้านทั้ง 7 หมู่บ้าน ๆละ 150,000 บาท และองค์การยูนิเซฟ(UNICEF) ในโครงการพัฒนาคุณภาพชิวิตในครอบครัวผู้ด้อยโอกาสสนับสนุนสำหรับบ้านปินพัฒนาและบ้านใหม่สันคือ หมู่บ้านละ 150,000 บาท

2.1) ทุนประกอบอาชีพ ชุมชนนำร่องได้จัดตั้งกองทุนความร่วมมือ ไทย-สหประชาชาติประจำหมู่บ้าน โดยเงินแรกจัดตั้งหมู่บ้านละ 150,000 บาท (องค์การยูนิเซฟ(UNICEF) ในโครงการพัฒนาคุณภาพชิวิตในครอบครัวผู้ด้อยโอกาสสนับสนุนสำหรับบ้านปินพัฒนาและบ้านใหม่สันคือ หมู่บ้านละ150,000 บาท) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ใช้เป็นทุนประกอบอาชีพภายใต้การเรียรู้การบริหารจัดการของชุมชน

จากการติดตามพบว่า มีหลายชุมชนนำร่องเกิดทักษะในการรวมเงินจากกองทุนต่างๆในชุมชนที่มีอยู่เดิมและกระจัดกระจายยากแก่การบริหารจัดการ เข้ามารวมอยู่ในกองทุนเดียวและมีคณะกรรมการบริหารชุดเดียว เพื่อตัดตอนวงจรหนี้ของคนในชุมชน ทำให้มีจำนวนเงินในกองทุนจำนวนมาก หลายชุมชนมีทักษะในการจัดระบบการบริหารจัดการ สามารถตั้งองค์กรบริหารและระเบียบการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เงินทุนส่วนมากนำไปใช้เพื่อลงทุนทางการเกษตรในลักษณะของการรวมกลุ่ม เช่น การทำนา ทำไร่ข้าวโพด ปลูกกระเทียม สวนลิ้นจี่ เลี้ยงปศุสัตว์เช่น วัวขุน ไก่พื้นเมือง เลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ เลี้ยงหมูเพื่อผลิตลูกหมูจำหน่าย เป็นต้น

สำหรับการแปรรูปผลผลิตในรูปอาหาร หรือผลิตภัณฑ์จักสาน ตีเหล็ก หน่อไม้ปี๊บหรือการผลิตเครื่องประดับ(เงิน) นั้นมีจำนวนผลผลิตไม่มากและไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยด้านเวลามีจำกัดเฉพาะช่วงสั้นๆภายหลักเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตร

2.2) กองทุนธนาคารหมู่บ้าน จากทักษะเดิมที่หน่วยงานภาครัฐได้ สนับสนุนงบประมาณหรือองค์ความรู้ในการรวมกลุ่มออมทรัพย์มาก่อน ทำให้ชุมชนมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการในรูปกองทุนธนาคารหมู่บ้านหรือกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการบริโภค(มิใช่เพื่อการผลิตหรือการอาชีพ)กล่าวคือ ชุมชนได้นำเงินส่วนหนึ่งสนับสนุนเป็นกองทุนธนาคารหมู่บ้านเพื่อให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อการใช้จ่ายทั่วไป ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีเงินสำรองทุนอยู่จำนวนหนึ่ง ประชาชนสมทบในลักษณะซื้อหุ้นและฝากอีกจำนวนหนึ่ง โดยจัดองค์กรและระเบียบการบริหารคล้ายธนาคารแต่ง่ายและไม่ซ้ำซ้อนโดยอาศัยสัจจะเป็นสิ่งผูกมัดแทนหลักทรัพย์

กองทุนธนาคารหมู่บ้านได้ขยายผลในการจัดทำเครือข่ายธนาคารหมู่บ้านใน 38 ธนาคารในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ เพื่อเป็นสถาบันการเงินชุมชนที่เข้มแข็งในการระดมทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่คนในชุมชน และได้รับการสนับสนุนเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนจากกองทุนพัฒนาสังคม(SIF) จำนวน 38 ล้านบาทส

พบว่าในแต่ละรอบปีธนาคารหมู่บ้านมีเงินหมุนเวียนในธนาคารจำนวนหลายแสนบาท และจะมีการปันผลคืนแก่สมาชิกทั้งหุ้นฝากและผลกำไรทุก 2 ปี จึงเห็นว่ากองทุนธนาคารจะไม่มีโอกาสที่จะเพิ่มทุนให้มีจำนวนหลักล้านเช่นธนาคารชุมชนในพื้นที่ภาคอื่น และพบว่ากองทุนธนาคารหมู่บ้านเป็นเพียงแหล่งเงินกู้ขนาดเล็ก ซึ่งแหล่งเงินกู้ขนาดใหญ่ได้แก่ ธกส. โดยเฉลี่ยครอบครัวหนึ่งมีหนี้สินจากการกู้ยืมเงินจาก ธกส.เพื่อหมุนเวียนประกอบอาชีพครอบครัวละ 100,000 บาท และเป็นหนี้ที่ชำระคืนหมุนเวียนได้ทุกปี

2.3) กิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในครอบครัวผู้ด้อยโอกาส โดยการสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ(UNICEF)

โดยที่โครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินกระบวนการและปลูกฝังแนวคิดและเงินทุนแก่ชุมชนเพื่อให้ชุมชนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มีชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ โดยใช้ดอกผลจากการสนับสนุนเงินดังกล่าวในพื้นที่นำร่อง 2 ชุมชน จัดตั้งเป็นกองทุนและนำดอกผลพัฒนา โดยได้ดำเนินการก่อนโครงการความร่วมมือไทย-สหประชาชาติ ทำให้ชุมชนเกิดความตระหนักและมีผลทำให้ผู้ด้อยโอกาสเช่น คนชรา คนพิการ ผู้ติดเชื้อเอดส์และเด็ก ได้รับการดูแลจากชุมชนในลักษณะการช่วยเหลือ สงเคราะห์ด้านการยังชีพ การศึกษาและการรักษาพยาบาลได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าชุมชนอื่นน่าจะนำรูปแบบดังกล่าวไปปรับใช้

2.4) กิจกรรมด้านการต่อต้านยาเสพติดโดยองค์กรชุมชน(โครงการ ราษฎร์-รัฐร่วมใจต้านภัยยาเสพติด) ภายใต้การสนับสนุนขององค์การ UNDCP โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับโครงการความร่วมมือไทย-สหประชาชาติและจังหวัดพะเยามาตั้งแต่แรกโครงการ

- สนับสนุนการจัดเวทีประชาชนในกระบวนการวิเคราะห์ชุมชน และค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยองค์กรชุมชนอย่างต่อเนื่องในพื้นที่นำร่อง อันเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนเฉลิมพระเกียรติปลอดยาเสพติด

- สนับสนุนเงินอุดหนุน อบต.พื้นที่นำร่องประจำปีเพื่อจัด กิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยองค์กรชุมชน เช่น การกีฬา การพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรในองค์กรในระดับตำบลและหมู่บ้าน การพัฒนามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ในลักษณะการเฝ้าระวังโดยอาสาสมัครชุมชน เป็นต้น

พบว่ามีหลายชุมชนเกิดความก้าวหน้าในการปรับใช้กระบวนความรู้ ความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมและภายใต้ความมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างเป็นระบบ สามารถวิเคราะห์ปัญหาชุมชนและกำหนดแนวทาง วิธีการแก้ไขปัญหาในรูปแผนงาน/โครงการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หมู่บ้านลอ หมู่ที่ 1 ตำบลลอ อ.จุน ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นกระบวนการมากกว่าชุมชนอื่นและเป็นที่ยอมรับแก่ทุกองค์กรที่ได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และปัจจุบันสามารถขยายผลไปยังหมู่บ้านข้างเคียงซึ่งคาดว่าจะสามารถครอบคลุมเต็มพื้นที่ตำบลได้ในไม่ช้า

และโดยที่การพัฒนากระบวนการตามโครงการได้ดำเนินมาระยะหนึ่ง สศช.จึงได้ทำ การศึกษาและสรุปความคิดรวบยอดจากการดำเนินโครงการเสนอคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ ประกาศดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน(CERCAP) ขึ้นโดยครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ กำหนดให้จัดตั้งและพัฒนาองค์กรบริหารจัดการชัดเจน และให้ ใช้บทเรียนและประสบการณ์จากโครงการ Thai-UNCAP เป็นแนวทางการดำเนินการ

จังหวัดพะเยา กำหนดให้ใช้พื้นที่นำร่องตามโครงการความร่วมมือไทย-สหประชาชาติ สำหรับเป็นต้นแบบกระบวนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในพื้นที่โครงการ CERCAP และสนับสนุนบุคลากรในชุมชนนำร่องสำหรับเป็นผู้แลกเปลี่ยนสนับสนุนโครงการ ดังกล่าวด้วย