ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการฯ ของจังหวัดพะเยา


       ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการฯ ของจังหวัดพะเยา

1. การชี้แจงทำความเข้าใจ วัตถุประสงค์ และลักษณะการดำเนินโครงการ ในระยะแรกแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรชุมชนยังไม่ชัดเจน เนื่องจากการพัฒนาระบวนการเป็นแนวทางใหม่สำหรับระบบราชการ และประชาชน ทำให้ผลสะท้อนในการนำเสนอแนวคิดจากชุมชน สังเกตุได้จากการนำเสนอขอเงินเป็น ตัวตั้งมากกว่าการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ

2. การใช้ชื่อโครงการความร่วมมือไทย-สหประชาชาติ ไม่เหมาะสมในพื้นที่ปฏิบัติการ เนื่องจากความหมายเป็นลักษณะโครงการเอกเทศมีองค์กรและงบประมาณเป็นของตนเอง ทั้งที่สุดท้ายต้องปรับเข้าสู่ระบบงบประมาณปกติของรัฐบาล ควรปรับใช้ว่า โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน หรือโครงการชุมชนเข้มแข็ง

3. ความรู้ ความเข้าใจ ในสาระสำคัญและแนวทางเกี่ยวกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ฉบับที่ 8 ยังจำกัดในวงแคบสำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในทุกระดับ โดยเฉพาะองค์กร หลักเช่น กพจ. อพอ. ยังไม่ได้รับการส่งเสริมบทบาทหน้าที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาตาม แผนฯดังกล่าวอย่างจริงจัง และห่างไกลสำหรับชุมชน เนื่องจากเป็นการปรับรื้อระบบการ พัฒนาที่ดำเนินการอยู่เดิม ทำให้การปรับแนวปฏิบัติในการจัดทำแผนเชิงบูรณาการสนับสนุน แนวทางแผนฯ ดังกล่าวไม่เกิดผลอย่างจริงจัง ควรเร่งรัดให้มีกระบวนการพัฒนาประสิทธิภาพบุคลากรภาครัฐทุกระดับที่เกี่ยวข้องทั้ง ในภูมิภาค และท้องถิ่นให้เกิดความเข้าใจและความตระหนักในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม โดยความมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายและยึดคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา

4. กระบวนการจัดทำแผนงาน/โครงการขององค์กรในแต่ละระดับทั้งภูมิภาคและท้องถิ่น ไม่สอดคล้องกับระบบ กนภ. ทำให้การสนับสนุนระบบงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆในระบบ กนภ.ไม่สามารถประสานได้อย่างเป็นระบบ เช่น แผนพัฒนาจังหวัดฯ สำนักงานจังหวัดเป็นหน่วยดำเนินการ แผนพัฒนาอำเภอและแผนพัฒนาตำบล ที่ทำการปกครองจังหวัดเป็นหน่วยดำเนินการและจัดทำคนละวาระไม่สอดคล้องกัน ควรปรับระบบแผนทุกระดับให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อการประสานและบูรณาการ แผนงาน/โครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

5. การสนับสนุนและจัดตั้งกองทุนชุมชน โดยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การบริหารจัดการโดยองค์กรชุมชน แต่หากขาดความเข้าใจแล้วจะเกิดปัญหาก่อให้เกิดวงจร หรือแหล่งเงินกู้ใหม่แก่ชุมชน อันเป็นการก่อวงจรหนี้ให้กับคนในชุมชนและเกิดความขัดแย้งในระหว่างผู้นำชุมชนหากเกิดการจัดการที่ไม่เป็นธรรม

6. จากบทเรียนที่ผ่านมา การกระจายความมีส่วนร่วมในชุมชนเองยังไม่เกิดอย่างทั่วถึง ทั้งการร่วมคิด ร่วมก่อตั้ง ร่วมรับประโยชน์และร่วมกันแก้ไขปัญหา ยังพบเป็นการกระจัดกระจาย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสไม่มีโอกาสร่วมกระบวนการโดยตรง และมักถูกเบียดออกจากกลุ่มในทุกกิจกรรม

7. การดำเนินการพัฒนาตามแนวทางแผนฯ 8 โดยหน่วยงานภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากแผนการพัฒนาคนภาครัฐในกระบวนทัศน์การทำงานเชิงบุรณาการถูกละเลย ทำให้ชุมชนขาดความรู้ความเข้าใจ ทำให้การดำเนินการพัฒนาตามโครงการต่างๆไม่เกิดประสิทธิภาพและไม่เกิดความคุ้มทุน ซึ่งไม่อาจเรียกได้ว่า "พัฒนา" น่าจะเรียกว่าเป็นแผนการใช้เงินมากกว่า

8. ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินกระบวนการ เนื่องจากการปรับเปลี่ยน ย้ายข้าราชการภาครัฐบ่อย ทำให้การปฏิบัติงานขาดความต่อเนื่อง และการพัฒนากระบวนการเป็นเรื่องที่ผู้บริหารรุ่นเก่าไม่สันทัด จึงขาดการสนใจสนับสนุน

9. โครงการตามนโยบายต่างๆ เช่น โครงการพัฒนากระบวนการประชาคม โครงการเสริมสร่างความเข้มแข็งของชุมชน โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ซึ่งมีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะหน่วย ต่างคนต่างทำ และไม่มีหน่วยงานใดที่พยามนำความเข้าใจว่าโครงการเหล่านั้นคือส่วนผสมของความยั่งยืนในการพัฒนาทั้งสิ้น และส่วนผสมดังกล่าวจะต้องดำเนินการไปด้วยกัน และสอดคล้องสนับสนุนกันอย่างเป็นระบบและกลมกลืน จะขาดในส่วนหนึ่งส่วนใดมิได้ ซึ่งในระดับชุมชนเกิดความสับสน ไม่สามารถเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ของกิจกรรม โครงการต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการในพื้นที่ให้นำไปสู่จุดร่วมกันอย่างชัดเจนได้