วุฒิอาสาธนาคารสมอง ภาคกลาง

ประชุมเชิงปฏิบัติการ "สานเครือข่ายขับเคลื่อน SDG LAB จังหวัดสมุทรสงคราม”

         เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 มูลนิธิพัฒนาไท ร่วมกับ กองยุทธศาสตร์การพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่ชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "สานเครือข่ายขับเคลื่อน SDG LAB จังหวัดสมุทรสงคราม” ณ โรงแรมริเวอร์ตัน อัมพวา อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อต่อยอดสานเครือข่ายขับเคลื่อน SDG LAB และร่วมหารือแนวทางการขับเคลื่อนงานอย่างบูรณาการระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระบบนิเวศที่เอื้อต่อการขับเคลื่อน SDG LAB จังหวัดสมุทรสงครามอย่างยั่งยืน โดยมีนางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาไท เป็นประธานเปิดการประชุม และ ได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.จำนงค์ แรกพินิจ รักษาการอธิการบดี สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) ร่วมกล่าวต้อนรับ การประชุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 120 คน ประกอบด้วย วุฒิอาสาธนาคารสมอง ภาคีเครือข่ายการพัฒนา ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nesdc.go.th/          

“วุฒิอาสาธนาคารสมองร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากร ภายใต้ทิศทำงการพัฒนาของแผนฯ 13”

         เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 มูลนิธิพัฒนาไท ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “วุฒิอาสาธนาคารสมองร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาประชากร ภายใต้ทิศทางการพัฒนาของแผนฯ 13” ใน 26 จังหวัด ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล ประกอบด้วย ได้แก่ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร  ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และภาคีเครือข่าย และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้วุฒิอาสาฯ ร่วมระดมความเห็นการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนา ประชากรในพื้นที่ รวมทั้งแนวทางการขยายเครือข่ายสมาชิกวุฒิอาสาฯ ที่เป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ (Active Aging) เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนงานการพัฒนาต่อไป           ในการนี้ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนไท เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม โดยกล่าวถึงประวัติความเป็นมา และบทบาทของวุฒิอาสาธนาคารสมอง และนางสาววรวรรณ พลิคามิน เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาไท และรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นำเสนอสถานการณ์และ ผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาฯ รวมทั้งข้อเสนอประเด็นและกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญของภาคกลางและ ตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑ ในประเด็น 4 เรื่องหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ 1 : การส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ กลุ่มที่ 2 : การส่งเสริมการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 : การเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตร กลุ่มที่ 4 : การส่งเสริมและดึงดูดแรงงานทักษะสูง ณ โรงแรม ไมด้า เดอ ซี จ.เพชรบุรี โดยมีวุฒิอาสาฯ ผู้เข้าร่วม จำนวน 124 คน



จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "รวมพลังวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคกลางขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

         วันที่ 26 สิงหาคม 2563 มูลนิธิพัฒนาไท (มพท.)ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.เพชรบุรี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "รวมพลังวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคกลางขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมี นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมและกล่าวต้อนรับในพิธีเปิด นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานและ นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ กรรมการมูลนิธิพัฒนาไท เป็นประธานเปิดการประชุม มีผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 200 คน ประกอบด้วย วุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่ายภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น คณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาไท นางสาวกัญญารักษ์ ศรีทองรุ่ง ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สศช. นางสาวศรี ศรีงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจพอเพียงและธนาคารสมอง และเจ้าหน้าที่ สศช.

          สืบเนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับธนาคารสมอง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2543 ในการนำผู้ที่เกษียณอายุ ที่มีสุขภาพแข็งแรง และมีจิตอาสา ในนาม "วุฒิอาสาธนาคารสมอง” มาร่วมกันพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 มอบหมายให้ สศช. เป็นหน่วยทะเบียนกลางธนาคารสมอง ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล จัดทำบัญชี ทำเนียบผู้ทรงคุณวุฒิ และประสานและเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อให้วุฒิอาสาฯ ได้นำความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ มาช่วยงานที่สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
          รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า สศช. และ มพท. สนับสนุนการทำงานของวุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยวุฒิอาสาฯ รวมกลุ่มกันขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์ผ่านกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่หลากหลายและเป็นรูปธรรม ตามความต้องการของหน่วยงาน ชุมชน และบริบทของแต่ละภูมิสังคม ในทั่วทุกภาคของประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาจังหวัด/ชุมชนท้องถิ่น มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) บนฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นการสร้างและขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกันของวุฒิอาสาฯกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม และชุมชน ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาท ผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาฯ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลงานเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่
          สำหรับการประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรายงานและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาฯ ภาคกลาง ขยาย เชื่อมโยง และบูรณาการการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ กับภาคีการพัฒนาในระดับพื้นที่จนถึงระดับจังหวัดและระดับภาค และการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนงานของวุฒิอาสาฯ ปี 2564 ที่สอดคล้องกับประเด็นในยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่เน้นการดึงพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น มาร่วมแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง รวมทั้งรวบรวมผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาฯ เพื่อนำไปประกอบการจัดงาน "20 ปี ธนาคารสมอง” ต่อไป
          ทั้งนี้ การประชุมใช้เวลา 2 วัน วันแรก เป็นการนำเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคกลางและทิศทางการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ และดัชนีความก้าวหน้าของคนในภาคกลาง เวทีเสวนาเติมเต็มความรู้ให้วุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่าย หัวข้อ "พลังสูงวัยร่วมสร้างชุมชนสู่ความเท่าเทียม” ใน 3 ประเด็น ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่ เกษตรกรรมยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม และผู้สูงอายุกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และการระดมความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของวุฒิอาสาธนาคารสมอง ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การส่งเสริมอาชีพ รายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิต 2) การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3) การสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ 4) การอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และ 5) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมระหว่างวุฒิอาสาฯ กับภาคีการพัฒนา วันที่สอง เป็นการนำเสนอแนวทางการดำเนินงานแบบบูรณาการระหว่างวุฒิอาสาธนาคารสมองกับภาคีเครือข่าย และสรุปผลการประชุม นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานของวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคกลางที่เป็นรูปธรรมรายจังหวัด

     จังหวัดเพชรบุรี เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลาย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ภาพเขียนฝาผนังอุโบสถ ลวดลายปูนปั้น หน้าบัน หน้าจั่วของโบสถ์ วิหาร ในวัดต่าง ๆ ปัจจุบันมีพระพุทธรูปหรือซากสถูปเจดีย์เป็นหลักฐาน ประกอบกับลักษณะของเมืองเพชรบุรี มีทั้งภูเขา ป่าไม้ ลำธาร น้ำตก แก่งหิน และหาดทรายชายทะเลที่มีธรรมชาติสวยงาม รวมทั้ง มีโครงการพระราชดำริมากที่สุดในประเทศถึง ๑๑๓ โครงการ ทำให้เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่น่าท่องเที่ยวและศึกษา ดูงานจังหวัดหนึ่งของประเทศ สมดังคำขวัญที่ว่า “เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม
      จังหวัดเพชรบุรี มีวิสัยทัศน์มุ่งสู่ “เมืองเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และเมืองน่าอยู่ น่ากิน น่าเที่ยว ระดับประเทศ” มีประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนา ๓ ด้าน ได้แก่ (๑) ยุทธศาสตร์การพัฒนาความมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจจากฐานการท่องเที่ยว การค้า การบริการ และการเกษตรครบวงจร (๒) ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และสังคมคุณภาพที่พึ่งตนเองได้ด้วยศาสตร์พระราชา และ (๓) ยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ผ่านมา นอกจากกลไกที่เป็นทางการหรือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคมแล้ว ยังมีวุฒิอาสาธนาคารสมองเป็นกลไกขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ที่สำคัญ เป็นพลังร่วมในการพัฒนาทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น ผู้สูงวัยเหล่านี้ มีจิตอาสาช่วยเหลือพัฒนาพื้นที่ เป็นพลังทางสังคมที่เข้มแข็งอีกหนึ่งพลังของสังคมไทยที่น่าภาคภูมิใจและสนับสนุน

         มูลนิธิพัฒนาไท และ สศช. โดยวุฒิอาสาฯ และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ ร่วมกันขับเคลื่อนแผนพัฒนาประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ บนฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการปฏิบัติอย่างจริงจังและเป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการเป็นตัวกลางในการประสานและหนุนเสริมการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย การให้คำปรึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาตามความต้องการและความเหมาะสมต่อชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ การถ่ายทอดองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และการผสมผสานความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับความรู้สมัยใหม่ตามภูมิสังคมของความเป็นไทย การรักษาและสืบทอดภูมิปัญญาไทยจากรุ่นสู่รุ่น และการเรียนรู้พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ต่าง ๆ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และศักยภาพของผู้สูงวัยมาร่วมพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ
          อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมที่กว้างขวางและรุนแรง หรือเรียกว่า "ยุค Coviderization” วุฒิอาสาฯ ควรปรับบทบาทการทำงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประเทศ ด้วยบทบาทที่สำคัญในการนำสังคมอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการมองไปข้างหน้าในอนาคตว่า สิ่งที่จะต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคตมีอะไรบ้าง ซึ่งส่งผลต่อแนวคิดการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการดำรงชีวิตในฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่ต้องยึดหลักความพอเพียง และการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม พอเพียง และยั่งยืน เน้นให้คนมีสุขภาพแข็งแรง มีความเป็นอยู่ที่ดี นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
          การประชุมในครั้งนี้ นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้วุฒิอาสาธนาคารสมองในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด และมีความถนัดในแต่ละด้านมาพบกัน เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ด้วยการเสริมจุดแข็ง เติมเต็มจุดอ่อน เชื่อมโยงเกาะเกี่ยวการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย เป็นธนาคารความรู้ที่เดินเข้าหาชุมชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในประเด็นสำคัญที่เท่าทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเข็มทิศในการพัฒนาประเทศ และร่วมกันหาแนวทางการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ / อุบัติซ้ำ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาในยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาประเทศ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งวุฒิอาสาฯ ภาคีเครือข่าย และทุกท่าน เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเชื่อมร้อยรอยต่อ ถักทอเครือข่าย และหุ้นส่วนการพัฒนาต่าง ๆ ให้เป็นฐานกำลังที่เข้มแข็งและมั่นคง ในการพัฒนาชุมชนและสังคมให้พร้อมที่จะเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป

      การประชุมเชิงปฏิบัติการ “รวมพลังวุฒิอาสาธนาคารสมองภาคกลาง ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลที่ได้จากการประชุม ไปปรับปรุงแผนการดำเนินงานของธนาคารสมอง และบทบาทของวุฒิอาสาฯ ที่จะช่วยสนับสนุนและผลักดันการขับเคลื่อนงานให้ถึงจุดหมายปลายทาง อีกทั้งเป็นส่วนสนับสนุนในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑๒ ซึ่ง สศช. และ มพท. จะได้นำเสนออีกครั้ง หลังจากที่ได้จัดสัมมนาครบทั้ง ๔ ภาค ขณะนี้ยังเหลือการประชุมที่ภาคเหนือ และเมื่อดำเนินการครบทั้ง ๔ ภาค จะสรุปเป็นภาพรวม แล้วจัดทำเป็นแผนการดำเนินงานของวุฒิอาสาฯ ต่อไป